Payment Gateway คือ อะไร
Payment Gateway คือ ระบบที่ใช้ในการประมวลผลการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างลูกค้ากับร้านค้าออนไลน์ เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ และเลือกชำระเงินผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น หรือช่องทางต่าง ๆ ของผู้ขาย Payment Gateway จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น ช่วยให้ธุรกิจออนไลน์สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลการเงินและช่วยลดความซับซ้อนในการทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์
นักช้อปออนไลน์มีนักช้อปออนไลน์มากถึง 49.9% หรือคิดเป็น 34.8 ล้านคน ที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์กันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร ซื้อของใช้ในบ้าน สินค้าพรีออเดอร์ หรือสินค้าลิมิเต็ดอิดิชั่น ช่องทางการชำระเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับร้านค้าและธุรกิจออนไลน์ หากเราสามาถตอบโจทย์ อำนวยความสะดวกด้านการชำระเงินให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ ก็จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อกับร้านค้าของเราได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee และ Lazada มีช่องทางการชำระเงินหลากหลายให้ลูกค้าเลือกจ่ายได้อย่างอิสระ อีกหนึ่งข้อดีของ Payment Gateway คือ ช่วยให้ร้านค้าสามารถรับชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิตได้อีกด้วย
Payment Gateway มีหลายประเภทตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. Payment Gateway Bank: ระบบชำระเงินออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับธนาคารโดยตรง มีความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยสูงสุด มีค่าธรรมเนียมต่อรายการต่ำ แต่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดการใช้งาน โดยจะต้องมีเงินฝากค้ำประกันขั้นต่ำอยู่ที่ 100,000 บาท เหมาะกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่มีทุนจดทะเบียน
ปัจจุบัน ธนาคารที่คนนิยมใช้บริการ Payment Gateway มีดังนี้
Merchant iPay (ธนาคารกรุงเทพ)
ระบบรับชำระเงินออนไลน์ของธนาคารกรุงเทพ รองรับการชำระด้วยสกุลเงินได้ 27 สกุลเงินทั่วโลก รวมถึงการชำระผ่านบัตรเครดิตและเดบิต VISA, MasterCard, UnionPay, JCB และ TPN เมื่อลูกค้าชำระสินค้าบนเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ธนาคารจะโอนเงินเข้าบัญชีของร้านค้าโดยตรง สามารถตรวจสอบรายการได้ทันทีจากรายงาน iPay บนเว็บไซต์ของธนาคาร
โดย Merchant iPay มีอัตราค่าธรรมเนียมต่อรายการอยู่ที่ 3 – 5% ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 1,500 บาท ค่าธรรมเนียมรายปีอีก 1,000 บาท และต้องมีเงินค้ำประกันอีก 100,000 บาท
K-Payment Gateway (ธนาคารกสิกรไทย)
ระบบรับชำระเงินออนไลน์ของธนาคารกสิกรไทยที่สามารถแปลงสกุลเงินได้อัตโนมัติสำหรับบัตรเครดิตต่างชาติ รองรับได้ถึง 35 สกุลเงินทั่วโลก รองรับการชำระทั้งบัตรเครดิตและเดบิต VISA, MasterCard, JCB และ UnionPay ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
มีอัตราค่าธรรมเนียมต่อรายการอยู่ที่ 3 – 5% ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี แต่ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน 200,000 บาท และหากงานใช้คู่กับบริการเสริม SMS ขยันบอก ของธนาคารกสิกรไทยก็จะแจ้งเตือนทันทีเมื่อลูกค้าชำระเงินบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น
Krungsri Biz Payment Gateway
ระบบรับชำระเงินออนไลน์ของธนาคารกรุงศรี รองรับ 13 สกุลเงินทั่วโลก พร้อมกับระบบรักษาความปลอดภัย และแจ้งเตือนข้อมูลทันทีพบธุรกรรมการเงินที่ผิดปกติ สามารถเลือกปฏิเสธรายการจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตของบัตรสูงได้ มี User ID และ Password ให้สำหรับตรวจสอบข้อมูลการชำระเงินของแต่ละรายการ
มีอัตราค่าธรรมเนียมต่อรายการอยู่ที่ 3 – 5% ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 5,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 10,000 หรือ 25,000 ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด และต้องมีเงินค้ำประกันอีก 200,000 บาท
2. Payment Gateway Non Bank: มีความสะดวกและยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า Payment Gateway Bank มีค่าธรรมเนียมต่ำและมีความเร็วในการดำเนินการ เหมาะกับธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็ก ใหญ่ ไปจนถึงห้างหุ้นส่วน สามารถติดตั้งได้ง่าย ๆ และไม่ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน แต่จะค่าธรรมเนียมต่อรายการสูงกว่าประเภท Bank
PayPal
รับรองว่านักช้อปออนไลน์ทุกคนจะต้องรู้จัก Paypal ระบบรับชำระเงินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก รองรับได้ 25 สกุลเงิน สามารถแปลงสกุลเงินได้อัตโนมัติ รองรับการชำระจากบัตรเครดิตและเดบิต PayPal, Visa, Mastercard, AMEX, Discover และ UnionPay อีกทั้งลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีบัญชี PayPal อีกด้วย โดยค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 4.4% + $0.3USD และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอื่น ๆ
GB Prime Pay (Xendit)
ระบบรับชำระเงินออนไลน์สัญชาติไทย ที่มีความปลอดภัยระดับมาตรฐานสากล รองรับสกุลเงินต่างประเทศได้มากกว่า 30 สกุลเงินทั่วโลก มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลการขาย เพื่อนำไปใช้วางแผนการตลาด และพัฒนาต่อยอดธุรกิจ
มีค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 3% ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ และหากชำระไม่เกิน 50,000 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 20 บาท แต่หากชำระเงินมากว่า 50,000 บาท จะฟรีค่าธรรมเนียม (เฉพาะการชำระด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น)
Omise (OpnPayments)
ระบบรับชำระเงินออนไลน์มีฟังก์ชั่นหลากหลายตอบโจทย์ธุรกิจ มีฟีเจอร์ Recipient ที่สามารถโอนเงินได้หลายบัญชี เป็นการโอนเงินออกจากบัญชี Omise ไปยังธนาคารอื่น ๆ เหมาะกับธุรกิจที่มีร้านค้ารายย่อยให้เราสามารถจัดการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น
หากเป็นธุรกิจ SME จะมีค่าธรรมเนียม 3.65% และถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มียอดขาย หรือยอดเฉลี่ยต่อรายการสูง Omise จะคิดค่าบริการให้เป็นพิเศษ ไม่มีค่าบริการอื่นๆ ไม่มีกำหนดยอดขั้นต่ำ และการโอนเงินจาก Omise เพื่อเข้าธนาคารจะมีการคิดค่าธรรมเนียมการโอน จะมีค่าธรรมเนียมดังนี้
- สำหรับรายการโอนที่ไม่ถึง 2 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียม 30 บาท
- สำหรับรายการโอนที่มากกว่า 2 ล้านบาท มีค่าะรรมเนียม 150 บาท
2C2P
ระบบรับชำระเงินออนไลน์ที่มีค่าธรรมเนียมถูกที่สุด! หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนี้กัน แต่รู้หรือไม่ว่า 2C2P เป็นเจ้าแรกๆ ที่เปิดให้บริการในประเทศไทย และบริษัทใหญ่ ๆ ส่วนมากก็ใช้บริการของ 2C2P อย่าง Facebook ที่เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับ 2C2P ด้วยเช่นกัน โดยมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2.75%
Pay Solution
ระบบชำระเงินออนไลน์ที่หลายธุรกิจเลือกใช้ เพราะมีความเสถียรสูง ไม่ค่อยพบปัญหาด้านการใช้งานซอฟแวร์ รวมทั้งมีระบบความปลอดภัย SSL (Secure Sockets Layer) ระดับมาตรฐานสากล ทำให้ร้านค้าออนไลน์มั่นใจในการใช้บริการ มีค่าธรรมเนียมของ Pay Solution อยู่ที่ 3.60%
3. Payment Gateway in Marketplace: บริการชำระเงินออนไลน์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Amazon Pay, Apple Pay, Shopify เป็นต้น สามารถเชื่อมต่อกับระบบการขายของร้านค้า สร้าง Customer Journey ที่ราบรื่นให้กับลูกค้า นำไปสู่การปิดยอดขายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
การเลือกใช้บริการ Payment Gateway ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง
- ความเสถียรและประสิทธิภาพในการทำงาน: ปัจจัยพื้นฐานในการเลือกใช้บริการเลือก Payment Gateway คือ ช่องทางการเชื่อมต่อที่เสถียรและไม่มีปัญหาซอฟแวร์ เพื่อให้การทำธุรกรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สามารถใช้งานได้ทุกเวลาที่จำเป็น ช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับลูกค้าได้
- การอัพเดตและการพัฒนาซอฟต์แวร์: ผู้ให้บริการควรมีการอัพเดตซอฟต์แวร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการใช้งาน และเพิ่มฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ให้บริการมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- การรักษาความปลอดภัย: ในฐานะผู้ใช้งานควรเลือก Payment Gateway ที่มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยสูง เช่น มีการเข้ารหัสข้อมูลการชำระเงิน (Encryption) และมีการรักษาความลับของข้อมูลอย่างเหมาะสม
- ความสะดวกในการใช้งาน: หนึ่งในจุดประสงค์ของ Payment Gateway คือ การมีตัวอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่าย และเหมาะสำหรับทุกคน เพื่อลดความซับซ้อนในการทำธุรกรรม ช่วยให้ตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้นอีกด้วย
- ความสามารถในการรองรับช่องทางการชำระเงินอื่น ๆ: Payment Gateway มีความสามารถในการรองรับการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิต/เดบิต โอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร การชำระผ่านพร้อมเพย์ หรือการใช้ E-wallet สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรเลือก Payment Gateway ที่รองรับช่องทางการชำระเงินที่ลูกค้านิยมใช้
- ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม: ก่อนเริ่มต้นใช้บริการควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น ค่าบริการปรับปรุงระบบเพิ่มเติมหรือค่าธรรมเนียมการใช้งานที่มีเงื่อนไขพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และวางแผนทางการเงินได้อน่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Payment Gateway เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ธุรกิจ และร้านค้าออนไลน์จะขาดไปไม่ได้ หากต้องการให้ร้านค้าของคุณเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านหรือในออนไลน์ ลองปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า รับรองว่าจะสร้างความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน
สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าใหม่ ทดลองใช้ระบบรวมแชทบน Zaapi ฟรี 7 วัน คลิกเลย
{{cta-button="/cms-injection-content"}}
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Zaapi
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานฟีเจอร์ สามารถติดต่อเราได้ผ่านช่องทาง
· LINE OA: @zaapi
· Facebook Page: Zaapi Thailand
· Tel: 096-927-1729
Chat, Sell, Scale - The All-in-One Conversation and Commerce Hub